Creators จะเดินต่ออย่างไรในวันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกกระบวนการ
เราจะทำอย่างไรหากในอนาคตเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มตัว รวมไปถึงศักยภาพของโลกเสมือนอย่าง Metaverse, Blockchain, Token, NFT หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่ทำให้เหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์นั้นเกิดความกังวลในเรื่องของการถูกเทคโนโลยีแย่งงานหรืออาจทำให้บางอาชีพต้องหายไป
ภายในงาน “COLLECTIVE by Cloud 11” นั้นก็ได้มีการพูดถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานสำหรับสายครีเอทีฟ โดยมี “พรรณธร ลออรรถวุฒิ” CEO จาก “VUCA Digital” บริการที่ปรึกษาด้าน Blockchain Solutions, Token และ NFT projects “ภารุต เพ็ญพายัพ” CEO จาก “MQDC Idyllias” โครงการเมตาเวิร์สแห่งแรกที่มาช่วยสร้างสรรค์โลกใบใหม่จากการเชื่อมต่อโลกจริงและโลกเสมือนเข้าด้วยกัน “ชินธิป แต้มแก้ว” และ “ตฤณ นิลกรณ์” ผู้ร่วมก่อตั้ง “AI-Deate” แพลตฟอร์ม Generative AI ฝีมือคนไทย และ “เมธากวี สีตบุตร” ผู้มีประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีเพื่อการสร้างสรรค์ผลงาน มาร่วมพูดคุยถึงการคิดสร้างสรรค์ไอเดียและสร้างผลงานผ่านเทคโนโลยีเหล่านี้
เทคโนโลยีช่วยสร้างโลกเสมือนให้เชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริง
โดยทาง VUCA Digital มองว่า การสร้างระบบ ทั้ง Blockchain, Token และ NFT ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ จะช่วยให้เหล่าครีเอเตอร์หรือสตาร์ทอัปทำงานได้ง่ายมากขึ้น ผ่านการทำงานในระบบต่างๆ ที่ทาง VUCA เปิดให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Licensing ที่ผู้ใช้งานสามารถใช้พร้อมกับที่ทาง VUCA พัฒนาการทำงานของระบบไปด้วย หรือการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ผ่านการ Collaboration กับแบรนด์และครีเอเตอร์ เพื่อกระจายการเข้าถึงของผลงาน รวมไปถึงเป็นพื้นที่ในการเปิดโอกาสเพื่อซื้อขายผลงานจากทั้งโลกจริงและโลกดิจิทัลได้
เช่นเดียวกันกับ MQDC Idyllias ที่มองว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายถ้าเราใช้งานได้อย่างถูกวิธีการก็เป็นโอกาสเสริมในการสร้างสรรค์ผลงาน อย่าง เทคโนโลยี Blockchain, Token และ NFT ที่อาจมองได้ว่าเป็นเทรนด์ในระยะยาวที่จะช่วยสร้างโอกาสให้กับเหล่าครีเอเตอร์ หรือเทคโนโลยี AI นั้นก็ช่วยในกระบวนการคิดสร้างสรรค์ได้อย่างมากมายมหาศาลด้วยเหมือนกัน
ซึ่งการทำงานของเหล่านักสร้างสรรค์มักจะใช้เวลาไปกับโลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ จึงเป็นโจทย์ที่ทำให้ MQDC Idyllias โฟกัสว่าจะทำการเชื่อมต่อโลกออนไลน์กับโลกจริงให้ลงตัวมากที่สุดได้อย่างไร เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน เช่น โครงการที่จะเปิดตัวในช่วงปลายปี 2567 อย่าง Cloud 11 ที่อยากจะเสริมศักยภาพให้กับกลุ่มครีเอเตอร์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้นักสร้างสรรค์เหล่านั้นสามารถติดตามคอนเทนต์ที่สนใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ที่เชื่อมต่อเข้ากับโครงการของ Cloud 11 เพื่อเป็นพื้นที่ในการจุดประกายความคิดไอเดียต่างๆ ให้กับสายผลิตได้คิดและสร้างผลงานต่างๆ ออกมาได้อย่างเต็มที่
AI ไม่ใช่ผู้ร้ายในวงการครีเอเตอร์
เมธากวี นักสร้างสรรค์ที่ใช้ AI มาเป็นส่วนประกอบของงานของตนเองก็มองว่า ขึ้นชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีก็ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีของ AI นี้คือทั้งช่วยลดระยะเวลาในการทำงาน ช่วยสร้างความคิดภายในหัวให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ก่อนจะนำไปสู่การผลิตในขั้นตอนต่อๆ ไป ส่วนข้อเสียของการใช้ AI ก็มีทั้งในเรื่องของการทำงานที่ไม่อาจตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ รวมไปถึงหากใครที่ใช้เทคโนโลยีนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลงานของตนเองก็อาจจะต้องระวังในเรื่องของลิขสิทธิ์ที่ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายครอบคลุมที่ชัดเจนเท่าไรนัก
อย่างไรก็ตาม เมธาวี มองว่าสิ่งที่จะทำให้นักสร้างสรรค์และเทคโนโลยี AI เติบโตไปด้วยกันได้คือการเรียนรู้และทำความเข้าใจการใช้งาน เพื่อหาช่องทางในการปรับใช้เครื่องมือชิ้นนี้ให้คุ้มค่าและสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาในแบบของตัวเองได้อย่างดีที่สุด
ส่วนแพลตฟอร์ม AI-Deate เองก็เกิดขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์ในการใช้ AI เป็นหนึ่งในตัวช่วยลดเวลาและลดต้นทุนให้กับบริษัทหรือผู้ผลิตผลงานต่างๆ ให้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในวงการเอเจนซี่ เพื่อลดเวลาการทำอาร์ตเวิร์ก สตอรี่บอร์ดทั้งภาพนิ่งและวิดีโอให้สั้นลงกว่าเดิม และเพิ่มเวลาให้กับเหล่าครีเอทีฟได้คิดในการสร้างผลลัพธ์ของให้ออกมาได้ดียิ่งขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับขั้นตอนการแก้ไขหรือปรับปรุงตัวไอเดียมากจนเกินไป
ด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาโดยคนไทย ทาง AI-Deate เองก็มองว่าอยากให้พื้นที่นี้เป็นการสนับสนุนศิลปินของไทยด้วย จึงได้มีการวางแผนในการร่วมมือกับศิลปินหรือครีเอเตอร์ชาวไทยในการผลิตผลงานสำหรับการสร้างงาน AI ในสไตล์ของศิลปินไทยแต่ละคนออกมา และในการสร้างภาพ AI แต่ละครั้งนั้นก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่จากส่วนนี้ก็จะเป็นของศิลปินเจ้าของผลงาน ถือได้ว่า AI-Deate นั้นไม่ได้ช่วยให้แค่ให้ทำงานง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับศิลปินที่สนใจร่วมงานกันอีกด้วย
สุดท้ายแล้ว เหล่าสปีกเกอร์ต่างก็มองว่าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นนั้นคงจะไม่สามารถช่วงชิงความคิดสร้างสรรค์จากมนุษย์ไปได้ เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องมีผู้ใช้งานที่เกิดความคิดริเริ่มในการสรรค์สร้างงานผ่านการใช้เทคโนโลยีนี้ ด้วยเทคโนโลยีเองก็เปรียบได้ว่าเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเวลา และเป็นตัวช่วยให้คนทำงานได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น ยิ่งเทคโนโลยีเหล่านั้นดีมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้งานที่ต้องการนั้นออกมาได้ดียิ่งขึ้นด้วย หากเพียงแต่ผู้ใช้งานรู้หลักและวิธีการใช้ว่าจะนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานอย่างไรเพื่อต่อยอดงานหรือเพื่อเกิดเป็นผลงานใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ไม่แน่ว่า ในอนาคตเหล่าครีเอเตอร์ก็อาจจะมีคอนเทนต์ที่ดีอีกมากมายจากการปรับใช้และพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม